รู้จักกับ Windows Imaging Format (.WIM)
ไฟล์ .WIM คืออิมเมจไฟล์ของทางไมโครซอฟท์ และมีลักษณะเป็น File-Based Disk Management Format ซึ่งแตกต่างจาก Sector-Based Format ที่เราใช้และคุ้นเคยกัน โดยก่อนที่เราจะทำการ Deploy เครื่องกันท่านผู้อ่านจะต้องมี .WIM ไฟล์นี้เสียก่อนและจึงค่อยทำการ Deploy โดยเราสามารถสร้าง .WIM ได้หลายวิธีครับ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และความต้องการเป็นหลักครับ สำหรับข้อดีของการใช้อิมเมจ .WIM ไฟล์ คือ
1. สามารถทำการ Deploy ไปยังฮารด์แวร์ที่มีความแตกต่างกันได้โดยใช้ .WIM เพียงไฟล์เดียว ซึ่งจะแตกต่างจากอิมเมจในรูปแบบอื่นๆ ที่จะต้องมีหลาย ๆ อิมเมจเมื่อองค์มีฮารด์แวร์ที่แตกต่างกัน ดังนั้นทำให้องค์กรสามารถจัดการอิมเมจได้สะดวกและประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บและดูแลรักษาอิมเมจ .WIM ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. สามารถจัดการอิมเมจแบบ Offline ได้หมายความว่า เราสามารถเพิ่มเติมและแก้ไขอิมเมจได้โดยไม่ต้องทำการ Deploy ไปที่เครื่องต้นแบบก่อนและทำการแก้ไข จากนั้นจึงค่อยทำอิมเมจอีกครั้ง ซึ่งวิธีดังกล่าวจะทำให้เสียเวลาในการจัดการมากพอสมควร แต่สำหรับ .WIM หรืออิมเมจไฟล์ของไมโครซอฟท์ เราสามารถทำสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้ เช่น การ Add Drivers หรือการอัพเดท Patches ต่างๆ ไปยังอิมเมจที่มีอยู่ โดยที่ไม่ต้องทำการ Re-Deploy อิมเมจไปยังเครื่องใดเครื่องหนึ่งก่อนแล้วจึงค่อยติดตั้ง Drivers หรือ Patches จากนั้นค่อยทำอิมเมจอีกครั้ง
3. สามารถทำการ Deploy .WIM อิมเมจไปยังดิสก์ที่มีขนาดเท่าใดก็ได้ ซึ่งจะแตกต่างจาก Sector-Based Format อิมเมจที่จะต้องทำการ Deploy ไปยังดิสก์ที่มีขนาดเท่ากันหรือใหญ่กว่าเท่านั้น นอกจากนี้แล้ว .WIM อิมเมจยังให้เราสามารถกำหนดขนาดของดิสก์หรือพาร์ทติชั่นได้ตามที่ต้องการ เช่น อิมเมจต้นแบบมีการกำหนดเพียงพาร์ติชั่นเดียว แต่เมื่อทำการ Deploy เราสามารถกำหนดหรือแบ่งเป็น 2 พาร์ทติชั่นได้หากต้องการ ดังนั้นท่านผู้อ่านจะเห็นว่า .WIM อิมเมจมีความยืดหยุ่นได้ในการจัดการมากขึ้น
4. สามารถทำการ Deploy อิมเมจไปโดยสามารถระบุหรือกำหนดดิสก์หรือพาร์ติชั่นได้ นั่นหมายความว่าการทำดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบกับดิสก์หรือพาร์ติชั่นอื่นๆ ที่อยู่ในเครื่องนั้นๆ
5. อิมเมจ .WIM จะมีการบีบอัด (Compression) เพื่อใช้งานพื้นที่ของดิสก์อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
สำหรับรูปด้านล่างจะเป็นการเปรียบเทียบกันระหว่างการทำอิมเมจในรูปแบบเดิมกับรูปแบบใหม่ (.WIM) ครับ
หลังจากเรื่อง .WIM หรืออิมเมจไฟล์ของไมโครซอฟท์แล้ว เรื่องต่อไปที่ผมจะพูดถึงก็คือเครื่องมือหรือทูลต่างๆ ที่จะนำมาใช้ในการ Deploy Windows 7 ครับ สำหรับเทคโนโลยีที่ใช้ในการทำ Windows 7 Deployment นั้นมีอยู่ 2 วิธีครับ
1. Lite Touch Installation (LTI)
2. Zero Touch Installation (ZTI)
ซึ่งทั้ง 2 วิธีจะประกอบไปด้วยเครื่องมือต่างๆ มากมายครับ ซึ่งมีทั้งฟรีและเสียตังค์ครับ สำหรับความแตกต่างของทั้ง 2 วิธีนี้ คือ เทคโนโลยี LTI ทางไมโครซอฟท์ให้เราใช้งานได้ฟรีครับ !!!!! แต่สำหรับ ZTI จะต้องเสียตังค์ครับ ดังนั้นในบทความนี้ผมจะนำเอา LTI มาอธิบายให้ท่านผู้อ่านได้ทราบกันครับ และที่สำคัญคือท่านผู้อ่านสามารถนำไปใช้งานได้โดยไม่ต้องเสียตังค์ครับ แต่สิ่งที่ LTI ยังขาดคือ การบริหารและจัดการแบบเต็มรูปแบบเมื่อเทียบกับ ZTI ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความต้องการและความเหมาะสมของแต่ละองค์กรครับ ต่อไปผมจะพาท่านผู้อ่านไปทำความรู้จักกับทูลหรือเครื่องมือต่างๆ ใน LTI กันครับ
โดยผมขอเริ่มที่ตัวแรกคือ Windows Automated Installation Kit (WAIK), WAIK คือ ชุดเครื่องมือหรือทูลที่สำคัญมากตัวหนึ่งในการจัดการอิมเมจ ตัวของ WAIK เองประกอบไปด้วยเครื่องมือต่างๆ มากมาย เช่น ImageX, DISM, Windows SIM และอื่นๆ อีกมากมายครับ เราสามารถใช้ WAIK เพื่อทำการ Capture และ Deploy อิมเมจ
ตลอดจนการทำ Offline อิมเมจตามที่ผมได้อธิบายไว้ข้างต้นครับ แต่ต้องบอกว่าเครื่องมือที่อยู่ใน WAIK ส่วนใหญ่จะเป็นแบบ Command-Line ครับ แต่ท่านผู้อ่านอย่าเพิ่งตกใจไปนะครับ ว่าจะทำยุ่งยากในการทำอิมเมจ สิ่งแรกที่ผมอยากให้ท่านผู้อ่านได้ทำคือ การดาวน์โหลด WAIK มาก่อนครับ โดยสามารถดาวน์โหลดได้ที่ http://www.microsoft.com/download/en/details.aspx?id=5753
สำหรับเครื่องมือต่อมาคือ Windows Deployment Service (WDS) สำหรับท่านผู้อ่านท่านใดที่คุ้นเคยกับ Windows Server 2008 และ R2 น่าจะรู้จักและทำการติดตั้ง WDS ได้ไม่ยากครับ เพราะ WDS เป็น Role หนึ่งที่อยู่ใน Windows Server 2008 และ R2 ครับ สำหรับ WDS จะเข้ามาช่วย WAIK ในการ Deploy Windows 7 ผ่านทางเน็คเวิรค์ครับ ซึ่งจากประสบการณ์ส่วนตัวต้องบอกว่าการมี WDS เข้ามาจะทำให้การ Deploy มีความสะดวกและยืดหยุ่นมากขึ้นครับ รายละเอียดการติดตั้ง WDS เดี๋ยวว่ากันทีหลังครับผม
สำหรับทูลตัวสุดท้ายสำหรับ LTI คือ Microsoft Deployment Toolkit (MDT) เวอร์ชั่นล่าสุดสามารถดาวน์โหลดได้จากhttp://www.microsoft.com/download/en/details.aspx?id=25175
สำหรับ MDT นั้นเป็นทูลที่สำคัญที่จะเข้าทำงานร่วมกับ WAIK และ WDS ครับ และต้องบอกว่าการสร้างหรือ Capture และ Deploy เมื่อทำผ่าน MDT จะทำได้อย่างง่ายดายครับ ซึ่งเดี๋ยวมาดูกันครับว่าง่ายจริงหรือไม่อย่างไร แต่ว่าตอนนี้ผมได้แนะนำเครื่องมือต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ใน LTI ให้ท่านผู้อ่านได้ทราบกันไปหมดแล้วครับ มาถึงตอนนี้ผมจะเริ่มทำการติดตั้งเครื่องมือต่างๆ ให้ท่านผู้อ่านได้ดูกันครับ โดยผมจะเริ่มจากการติดตั้ง WAIK , WDS และ MDT ไปตามลำดับครับ
การติดตั้ง WAIK
สิ่งที่ท่านผู้อ่านจะต้องเตรียมคือ เครื่องที่ติดตั้ง Windows Server 2008 หรือ R2 ครับแล้วทำการ Join เครื่องดังกล่าวเข้าสู่โดเมนของท่านผู้อ่าน แต่ผมแนะนำว่าท่านผู้อ่านควรจะทดลองการติดตั้ง LTI ทั้งหมดนี้ใน Test Environment ผมไม่แนะนำให้ทำในระบบงานจริงครับสำหรับการทดสอบ เอาไว้ทดสอบสำเร็จแล้วเราค่อยติดตั้งและทำอีกครั้งในระบบงานจริง และที่สำคัญที่สุดคือความปลอดภัยครับ เอาล่ะครับหลังจากที่ได้ทำการดาวน์โหลด WAIK มาแล้ว เราจะเริ่มทำการติดตั้งโดยมีขั้นตอนต่างๆ ดังต่อไปนี้
ให้ท่านผู้อ่านเลือก Windows AIK Setup ดังรููป ด้านบนครับ จากนั้นให้รอสักครู่เพื่อเข้าสู่การติดตั้ง WAIK ดังรูปด้านล่าง
จากนั้นให้คลิ๊ก Next สำหรับในส่วนของ License Term ให้เลือก I agree แล้วคลิ๊ก Next ต่อไป เพื่อเข้าสู่ในส่วนของ Select Installation Folder ให้คลิ๊ก Next ดังรูปด้านล่าง
ในส่วน Confirm Installation ให้คลิ๊ก Next เพื่อติดตั้ง WAIK ดังรูป
ให้รอสักครู่ครับ และเมื่อติดตั้งเสร็จแล้วท่านผู้อ่านจะเห็นหน้าตา ดังรูปด้านล่างครับ
และท่านผู้อ่านสามารถศึกษา WAIK เพิ่มเติมได้จากเอกสารที่มาพร้อมกับการติดตั้ง WAIK ดังรูป
หลังจากเสร็จสิ้้นการติดตั้ง WAIK เสร็จเรียบร้อย
การติดตั้ง MDT ในลำดับต่อไป ผมจะทำการติดตั้ง MDT 2010 Update 1 โดยให้ท่านผู้อ่านทำการดับเบิ้ลคลิ๊กไฟล์ดังรูป ด้านล่างครับ
จากนั้นให้คลิ๊ก Next แล้วตามด้วย Install เพื่อเริ่มทำการติดตั้ง MDT ดังรูป
และในขั้นตอนสุดท้ายคือ การติดตั้ง WDS ครับ โดยให้ท่านผู้อ่านเรียก Server Manager ขึ้นมา จากนั้นให้คลิ๊กขวาที่ Roles จากนั้นให้เลือก Add Roles ดังรูปครับ
ในส่วนของ Before you begin ให้คลิ๊ก Next ต่อไปได้เลยครับ
ในส่วนของ Roles ให้เลือก Windows Deployment Services ดังรูป ด้านบนครับ สำหรับในส่วนของ Overview of Windows Deployment Services ให้คลิ๊ก Next ครับ สำหรับในส่วนของ Select Role Services ให้ใช้ค่าดีฟลอต์ ดังรูปด้านล่างครับ
จากนั้นให้คลิ๊ก Next แล้วตามด้วยกดปุ่ม Install เพื่อทำการติดตั้ง WDS ครับ ซึ่งก็เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการของการติดตั้ง WDS ครับ และยังถือว่าการติดตั้งเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ สำหรับ LTI ได้เสร็จเรียบร้อยแล้ว สำหรับในขั้นตอนต่อไป ผมจะพาท่านผู้อ่านเข้าสู่การสร้างหรือ Capture และ Deploy Windows 7 กันครับ ซึ่งผมขอยกยอดไปเป็นตอนหน้าครับ สำหรับตอนนี้ผมขอดื่มกาแฟสักถ้วยแก้หนาวก่อนนะครับผม.....
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น