โดยช่วงที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสไปเป็นวิทยากรที่ไมโครซอฟท์ประเทศไทย รวมถึงได้มีสอนเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับ Cloud Services ต่างๆ และต้องบอกว่าช่วงที่ผ่านมาเรื่องราวของ Cloud นั้นเป็นเรื่องที่แทบจะทุกองค์กรเลยครับให้ความสนใจและกำลังวางแผนและเตรียมพร้อมที่จะย้ายระบบ Datacenter ที่มีอยู่ในปัจจุบันมาเป็น Cloud แต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร เพราะมีข้อมูลมากมายทำให้เกิดความสับสนว่าจริงแล้ว Cloud Service คืออะไร และจะนำไปใช้อย่างไรเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์กับองค์กร
ด้วยเหตุผลนี้ผมจึงขอนำเสนอเรื่องราวนี้ในบทความนี้ซึ่งเป็นตอนที่ 1 ครับ ซึ่งจะเป็นตอนที่มาปูพื้นกันก่อนว่า Cloud คืออะไร และหลังจากนั้นผมจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับ “Microsoft Azure” ครับ ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายๆ ท่านคงจะเคยได้ยิน Azure มาแล้ว แต่ไม่ทราบว่าเจ้า Azure คืออะไรกันแน่ ส่วนใหญ่ก็จะบอกว่ามันคือ Public Cloud ของทางไมโครซอฟท์ที่ทำงานอยู่บน Internet แต่ยังไม่ทราบรายละเอียดแน่นอน ดังนั้นผมจึงอยากให้ท่านผู้อ่านได้ทำความรู้จักกับ Microsoft Azure ว่าคืออะไร และมีความสามารถอะไรบ้างครับ
Microsoft Azure คืออะไร?
ก่อนที่จะรู้จักกับ Azure
ผมอยากให้ท่านผู้อ่านทุกท่านทำความเข้าใจกับเรื่องของ Cloud กันก่อนครับว่าคืออะไร
และมีคอนเซปรวมถึงรายละเอียดเป็นอย่างไรครับ ก่อนอื่นเลยเรามาทำความรู้จักกับ Cloud กันก่อนว่า
Cloud คืออะไร?
Cloud คือ รูปแบบหรือแนวคิดของการนำเอาทรัพยากรหรือ Computing Resources ต่างๆ ที่มีอยู่มาเป็น Shared Pool หรือนำมารวมกันเพื่อรองรับกับความต้องการและให้บริการได้ทันที
(On-Demand) โดยที่ผู้ให้บริการ (Service Provider) สามารถบริหารและจัดการได้อย่างรวดเร็ว สำหรับ
Computing Resources ที่ผมกล่าวถึงคือ Servers, Storages, Networks, Applications และ Services ต่างๆ ครับ
จากเดิมที่ทรัพยากรหรือ Computing
Resources เหล่านี้จะมาจากการที่องค์กรได้ซื้อมาเมื่อมีโครงการใหม่ๆ เกิดขึ้น
และจะมาเป็นระยะๆ จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความต้องการของโครงการนั้นๆ ซึ่งด้วยเหตุนี้ทำให้ใน Datacenter ขององค์กรนั้นมีจำนวนของ Servers, Storages, Networks มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาหลายๆ อย่างเช่น การใช้งานทรัพยากรเหล่านี้ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ, ทำให้การบริหารจัดการและดูแลทำได้ยากและก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายในการดูแลมากขึ้น เนื่องจากมีหลายหลายยี่ห้อของ Computing Resources และปัญหาอื่นๆ อีกมากมายครับ แต่ด้วยแนวคิดของCloud เป็นการนำเอา Computing Resources ทั้งหมดมา Pool รวมกันและวางแผนสำหรับการรองรับกับความต้องการของธุรกิจ โดยที่ไม่ใช่เป็นการซื้อ Computing Resources เหล่านี้มาทุกครั้งเมื่อมีโครงการใหม่ๆ เกิดขึ้น ดังนั้นทำให้การบริหารจัดการต่างๆ ขององค์กรมีประสิทธิภาพและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยองค์กรประหยัดค่าใช้จ่ายอีกด้วยครับ หลังจากที่รู้จักกับ Cloud แล้วเรื่องต่อมาที่ผมอยากให้ท่านผู้อ่านทราบคือ Cloud Essential Characteristics หรือคุณลักษณะของ Cloud ซึ่งถูกกำหนดโดย NIST ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางที่ดูแลและจัดการเรื่องของ Cloud โดย NIST ได้กำหนด Cloud ของใครก็ตามจะต้องมีคุณลักษณะดังต่อไปนี้ครับ
ผมขออนุญาตอธิบาย Essential Characteristics ของ Cloud เป็นข้อๆ ดังนี้ครับ เริ่มด้วย Resource Pooling/Multi-Tenancy นั้นคือการนำเอา Computing Resources ต่างๆ มารวมกันหรือ Pool กันเพื่อให้บริการลูกค้าหลายๆ
ราย โดยไม่มีผลกระทบในเรื่องของประสิทธิภาพ, การขยาย และความปลอดภัย
ข้อต่อมาคือเรื่องของ On-demand & Self-Service
ผู้ใช้งานสามารถขอหรือใช้บริการได้ทันทีตามความต้องการด้วยตัวเอง เช่น
ถ้าผู้ใช้งานต้องการ Virtual Machines เพื่อใช้งานแอพพิเคชั่นต่างๆ สามารถใช้ได้ทันที
ไม่ต้องรอให้ผู้ดูแลมาจัดการให้ ซึ่งต้องใช้เวลา เป็นต้น
หัวข้อต่อมาคือ Rapid Elasticity คือ Cloud จะสามารถรองรับการร้องขอการใช้งาน Services เพิ่มและลดได้ตามความต้องการ เช่น
ผู้ใช้งานสามารถสร้างหรือร้องขอ Virtual Machine
เพิ่มขึ้นมาและให้ทำงานแบบเดียวกับ Virtual Machine ที่ทำงานอยู่แล้วได้ทันที
เพื่อรองรับโหลดของผู้ใช้งานที่เข้ามาใช้งานเป็นจำนวนมากในช่วงเวลาหนึ่งๆ และสามารถลด
Virtual Machine ดังกล่าวได้ทันทีเมื่อไม่ต้องการ
หัวข้อต่อมาคือ Measured Service เมื่อผู้ให้บริการได้ให้บริการ Computing
Resources ต่างๆ
ให้กับลูกค้าหรือผู้ใช้บริการแล้ว
จะต้องสามารถเก็บข้อมูลรายละเอียดของการใช้งาน Computing
Resources ต่างๆ ที่ลูกค้าแต่ละรายได้ใช้ไป
เพื่อนำไปจัดทำเป็นรายงานและเก็บค่าบริการ (Charge Back)ต่อไป และหัวข้อสุดท้ายคือ Broad Network
Access คือ ผู้ใช้งานสามารถใช้งาน Cloud จากที่ใดก็ได้ครับ
ซึ่งทำให้เกิดความสะดวกต่อการใช้งานและบริการของ Cloud ครับ
ดังนั้นไม่ว่าจะเป็น Cloud Services ของค่ายหรือบริษัทใดๆ
ก็แล้วแต่จะต้องสามารถหรือมีคุณลักษณะตรงตามที่ NIST ได้กำหนดเอาไว้ครับ
เพราะจากที่ผ่านมามีลูกค้าถามว่า
เราจะทราบได้อย่างไรว่าบริษัทที่มานำเสนอโซลูชั่นของ Cloud Services นั้นเป็น Cloud จริงหรือไม่ คำตอบคือ
ต้องให้บริษัทนั้นอธิบายหรือแสดงเอกสารว่า Cloud
Services ของเค้านั้นมีคุณลักษณะตาม NIST หรือตามที่ผมได้อธิบายไว้ก่อนหน้านี้ครับผม