วันอังคารที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555

Welcome to Cloud Computing ตอนที่ 1


สวัสดีครับ ทุกท่าน บทความนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ Cloud Computing ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของใครหลาย ๆคนครับ บทความนี้ผมได้นำเอาข้อมูลส่วนหนึ่งที่ผมมีโอกาสเป็น Speaker ที่งาน Microsoft Solution Summit 2012 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาครับ หลังจากนั้นผมได้รับการติดต่อจากลูกค้ามากพอสมควร เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม และอยากให้ผมนำเอาเรื่องราวนี้โพสไว้ที่ Blog ของผม สำหรับเรื่องราวของ Cloud ในบทความนี้เป็นเพียงตอนแรกนะครับ โดยผมจะพูดถึงที่มาที่ไปของ Cloud Computing ก่อนจากนั้น ผมจะพาทุกท่านไปรู้จักกับ Microsoft Cloud Solution ที่ทาง Microsoft ได้เตรียมไว้สำหรับ ท่านใดหรือองค์กรใดที่สนใจและเตรียมพร้อมในการวางแผน ในการปรับปรุงระบบของท่านเข้าสู่ Cloud และเพือไม่ให้เป็นการเสียเวลาผมขอเริ่มเลยนะครับ    
Cloud Computing  คืออะไร ?

ก่อนอื่นต้องขอบอกท่านผู้อ่านเอาไว้ก่อนว่า  คำนิยามของ Cloud Computing นั้นมีอยู่มากมายครับ  แต่สำหรับผมแล้วผมได้พยายามเรียบเรียงให้ท่านผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจได้ง่ายว่า Cloud Computing คือ  การให้บริการทางด้านทางด้านไอทีหรือคอมพิวเตอร์  โดยเริ่มตั้งแต่  สายแลนที่เชื่อมต่อกันระหว่างเครื่องของผู้ใช้งานในองค์กร และเชื่อมต่อไปยังเครื่องเซิรฟเวอร์ต่างๆ  นอกจากนั้นยังมีสายไฟที่นำกระแสไฟฟ้ามาให้เครื่องของเราและเซิรฟเวอร์ทั้งหมดในองค์กรสามารถทำงานได้  และยังรวมไปถึงฮารด์แวร์ต่างๆ  ที่อยู่ในเครื่อง ไม่ว่าจะเป็น  ซีพียู, แรม, ดิสก์ และเน็คเวิรค์  นอกจากนี้แล้วยังมีแอพพิเคชั่นต่างๆ  ที่ให้บริการกับผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็น ระบบเมล์, ระบบฐานข้อมูล ฯลฯ   ดังนั้นเราจึงนิยามว่า Cloud Computing คือ การให้บริการทางด้านไอทีที่ครอบคลุมทั้งหมด  ไม่ได้เฉพาะเจาะจงถึงส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น ไม่ได้ระบุหรือเฉพาะเจาะจงที่เครื่องเซิรฟเวอร์อย่างเดียว หรือไม่ได้มองเฉพาะแค่แอพพิเคชั่นอย่างเดียว  แต่มองทั้งหมดว่านี่คือการให้บริการทางด้าน ไอที หรือเรียกว่า “IT as a Service” ครับ  แต่มีสิ่งที่สำคัญคือ การให้บริการที่ว่านี้จะเป็นแบบ On-demand และทางผู้ใช้งานสามารถปรับเปลี่ยน, เพิ่มหรือลดและจัดการสิ่งที่อยู่ใน Cloud ได้ด้วยตัวเองไม่ต้องอาศัยผู้ดูแลระบบครับ  เอาล่ะครับหลังจากทราบกันแล้วว่า Cloud คืออะไรกันแล้ว  ในส่วนที่ผมจะอธิบายต่อไปคือ คุณสมบัติของ Cloud  ไม่ว่าจะเป็น Private หรือ Public ก็จะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ครับ

เริ่มด้วยคุณสมบัติแรกคือ Resource Pooling   คือ การนำเอา Resources ต่างๆ  มารวมและแชร์กันใช้งาน  เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับองค์กร  สิ่งที่ผมอยากให้ท่านผู้อ่านเข้าใจ คือ คำว่า “Resource”  ในมุมของ Cloud คือ สิ่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- ซีพียู, แรม
- ดิสก์และสตอเรจ
- เน็คเวิรค์
- Virtual Machines

โดย Resource เหล่านี้จะถูกกำหนดให้ถูกนำไปใช้งานใน Cloud  โดยผู้ใช้งานในองค์กรจะเป็นผู้ที่เข้ามาใช้งาน Resource Pool ดังกล่าวนี้  เพราะฉะนั้นในงานจริง  เราจะต้องมีการวางแผนและเตรียมพร้อมฮาร์ดแวร์สำหรับที่จะนำมาทำเป็น Resource Pool เพื่อรองรับการใช้งานในองค์กรครับ
คุณสมบัติต่อมาคือ  Rapid Elasticity คือ ผู้ใช้งานหรือผู้ใช้บริการ Cloud สามารถปรับเปลี่ยน Resource ได้ตามความต้องการ เช่น ถ้าผมเปิดให้บริการ E-Commerce เว็ปไซท์  ผมมีการวางแผนและคาดการณ์ว่าในช่วงปีใหม่จนถึงตรุษจีน จะมีลูกค้ามาใช้บริการเว็ปไซท์ของผมเป็นจำนวนมาก  เพราะฉะนั้นผมสามารถวางแผนในการปรับเปลี่ยนและเพิ่มเติมจำนวนเว็ปเซิรฟเวอร์ของผมให้สามารถรองรับกับความต้องการและแผนดังกล่าวนี้ได้  และเมื่อผ่านพ้นช่วงเทศกาลไปแล้วผมสามารถปรับลดจำนวนเว็ปเซิรฟเวอร์ของผมลงให้เหลือตามปรกติ  ซึ่งกระบวนการทั้งปรับเพิ่มและลดจำนวนเว็ปเซิรฟเวอร์ที่ผมกล่าวไปนั้นคือการที่ผมสามารถทำได้โดยอัตโนมัติและได้ด้วยตัวเองครับ
คุณสมบัติต่อไปคือ On-demand Service ถือว่าเป็นคุณสมบัติที่สำคัญอีกอันหนึ่งสำหรับ Cloud คือ การที่ผู้ใช้งานสามารถปรับเปลี่ยน Resource ของตัวเองและทำด้วยตัวเอง  ไม่ต้องเสียเวลารอผู้ดูแลระบบอีกต่อไป  ผมยกตัวอย่างเรื่องของการสร้าง Virtual Machine ตามที่ผู้ใช้งานต้องการ   ในปัจจุบันกระบวนการในการสร้าง Virtual Machine สำหรับองค์กรที่นำเอาเทคโนโลยี Virtualization เข้ามาใช้งานนั้น  การสร้างตลอดจนการจัดการ Virtual Machines จะเป็นหน้าที่ของผู้ดูแลระบบครับ  เพราะฉะนั้นถ้าหากผมต้อง Virtual Machine สักตัวหนึ่งมาใช้งาน  ผมจะต้องทำการติดต่อไปยังแผนกไอทีเพื่อช่วยจัดการเรื่องดังกล่าว  แต่ไม่ได้ทำให้ผมทันทีแน่นอนครับ  อาจจะต้องรอสัก 1-2 วัน หรืออาจจะมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับนโยบายและขั้นตอนของแต่ละองค์กร  แต่ถ้าผมใช้ Cloud ผมสามารถทำสิ่งที่ผมต้องการได้ทันทีโดยไม่ต้องเสียเวลารอครับ
ไปกันที่คุณสมบัติต่อไปคือ  Measured Service คือ  เราสามารถทำการติดตามข้อมูลการใช้งาน Resource ต่าง ๆ ที่อยู่ใน Cloud ได้ครับ  และเราสามารถทำกระบวนที่เรียกว่า Chargeback หรือคิดค่าบริการกับผู้ใช้งานหรือหน่วยงานที่ใช้งาน Resource ที่อยู่ใน Cloud ได้ ตามที่ใช้จริงครับ
และคุณสมบัติสุดท้ายคือ Broad Network Access คือ ผู้ใช้งานหรือผู้ใช้บริการสามารถใช้งาน Cloud ได้จากทุกที่ ไม่ว่าจะอยู่ที่ออฟฟิศ, ที่บ้าน และที่ใดก็ได้ครับ

เรื่องต่อไปคือ Cloud Computing Service Models คือรูปแบบการให้บริการ Cloud จะมีอยู่ด้วยกัน  3 แบบ ดังรูปด้านล่างครับ


เริ่มจากรูปแบบแรก  คือ  Infrastructure as a Service (IaaS) 
คือ การให้บริการ Resources ต่างๆ (ดูความหมายจากข้างต้นครับ) พร้อมกับการนำเอาเทคโนโลยี Virtualization เข้ามาช่วยกันทำงาน  เพราะฉะนั้น IaaS คือการให้บริการในส่วนที่เป็น Infrastructure ให้กับองค์กร เพื่อใช้งาน และการให้บริการที่ว่านี้คือ การสร้าง Private Cloud นั่นเองครับ
รูปแบบที่สองคือ Platform as a Service (PaaS) 
คือ การให้บริการในส่วนของ Platform ที่เราสามารถใช้ในการสร้างพัฒนา, ทดสอบ และอื่นๆ  สำหรับแอพพิเคชั่นและเซอร์วิสต่างๆ   ตัวอย่างเช่น Microsoft Azure, GoogleAppEngine  เป็นต้นครับ

รูปแบบที่สามคือ  Software as a Service (Saas)
คือ การให้บริการแอพพิเคชั่นบน Cloud  เช่น  MS. Office365, Exchange Online, SharePoint และอื่นๆ อีกมากมายครับ

มีอีกส่วนหนึ่งที่ผมจะอธิบายเพิ่มเติม คือ On-Premise (ด้านซ้ายสุดของรูป) คือ ระบบ Data Center ที่มีอยู่แล้วในแต่ละองค์กร  โดยบางองค์กรอาจจะยังมี เซิรฟเวอร์ ที่เป็น  Physical  ทั้งหมดอยู่ใน Data Center หรือบางองค์กรเริ่มนำเอา Virtualization เทคโนโลยีเข้ามาใช้งาน เพื่อลดค่าใช้จ่ายและปรับปรุงให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น  มาถึงตรงนี้สิ่งหนึ่งที่ผมอยากให้ท่านผู้อ่านสังเกตคือ  เทคโนโลยี Cloud จะเป็นขั้นตอนต่อไปสำหรับองค์กรที่นำเอา Virtualization เทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น Hyper-V, VMWare  หรือ  XenServer  เข้ามาใช้งาน  Cloud จะเป็นส่วนที่เข้ามาต่อยอดเพื่อทำให้การบริการมีความยืดหยุ่นและมีประสิทธธิภาพมากขึ้น  โดยอาศัย Virtualization เป็นพื้นฐานครับ
สำหรับเรื่องราวต่างๆ  ข้างต้นจะเป็นเรื่องของ Cloud ทางด้านทฤษฏีครับ  สำหรับตอนหน้าผมจะนำเสนอ Cloud ของทาง Microsoft ครับ ว่ามีคอนเซปอย่างไร ตลอดจนส่วนประกอบและวิธีในการสร้างและใช้งาน Cloud ของทาง Microsoft ว่าเป็นอย่างไร  เพราะฉะนั้นห้ามพลาดนะครับผม




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น